หน้าหลักเกี่ยวกับคณะฯโรงเรียนของคณะฯติดต่อคณะฯ

          หลายๆท่านคงได้ประจักษ์ถึงผลงานด้านการตัดเย็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ของอารามพระหฤทัยฯ คลองเตย เพราะตั้งแต่พระคาร์ดินัล บรรดาพระสังฆราชทั้งเทศและไทย บรรดาพระสงฆ์ส่วนมาก ต่างก็เป็นลูกค้าของอารามนี้ อาชีพด้านการตัดเย็บนี้ได้เป็นเอกลักษณ์ของอารามตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่อารามได้ก่อตั้งขึ้น แต่สมัยก่อนนั้นลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในรั้วในวังเสียเป็นส่วนมาก ซิสเตอร์ยายหลายๆ ท่าน (บัดนี้จากไปสวรรค์แล้ว) ได้เล่าว่า พวกเขาได้มีส่วนเย็บและปักลวดลายชุดอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 6 แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่มีหลักฐานที่ได้บันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการหรืออาจจะมีแต่ยังไม่ได้พบเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนตอนสมัยเป็นผู้ฝึกหัดได้เห็นก็คือ พี่สาวของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี หรืออดีตนายกรัฐมนตรี ได้มาตัดเย็บเสื้อผ้ากับซิสเตอร์ที่ชื่อ ซิสเตอร์ยออันนา (ซึ่งขณะนั้นยายก็อายุ 80 กว่าปีแล้ว) ผู้เขียนได้เลียบๆ เคียงๆ ไปดู ยายยออันนาก็ให้ดูเสื้อที่ยายได้ทำ การตีเกล็ดนั้นละเอียดยิบ ยายเล่าว่ายายเป็นศิษย์เอกของดามรี (เซอร์มารี เต็ก เซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ที่เคยมาช่วยในงานด้านการอบรมภคินีพื้นเมืองที่อารามพระหฤทัยฯ) นอกนั้น บรรดาซิสเตอร์รุ่นอาวุโสก็ได้เล่าอีกว่า พระอู่ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็เป็นฝีมือของพวกเขาเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ทางคณะก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ด้านการตัดเย็บเอาไว้ แต่ส่วนมากเป็นงานด้านอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ เสื้อหล่อพระสงฆ์และเสื้อเคอร์ยี่ ผ้าปูพระแท่นและผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ 

          นอกจากงานด้านการตัดเย็บแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ท้อฟฟี่ถั่ว ที่เมื่อเริ่มชิมเม็ดแรกแล้ว ถ้าไม่ปิดถุงเม็ดต่อๆไปก็จะค่อยๆถูกลิ้มรสต่อไปเพราะหยุดยากจริงๆ และบัดนี้ท้อฟฟี่ถั่วของอารามพระหฤทัยฯ ก็ได้รับการรับรองคุณภาพจาก อย. (องค์การอาหารและยา) แล้ว

          จากความสนใจงานด้านประวัติศาสตร์ผู้เขียนจึงอยากจะแบ่งปันความเป็นมาคร่าวๆ กับท่านผู้อ่านถึงบุคคลคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังที่มาที่ไปของอาราม และงานด้านการฝีมือของอารามแห่งนี้สักเล็กน้อย

          ขอพาท่านผู้อ่านไปที่อารามพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ ตึกด้านหน้าที่งามสง่าเป็นตึกทรงยุโรปมีจำนวนทั้งสิ้น 4 ชั้น มีหอสูงอยู่ด้านข้าง มีห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา  ชั้นที่ 3 มีวัดของอารามตั้งอยู่ ความยาวของตึกวัดได้ถึง 88 เมตร ตึกหลังนี้ได้รับการเสกเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1932 / พ.ศ. 2475 อายุของตึกหลังนี้นับได้ 80 ปีพอดี ตึกหลังนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน

          งานด้านการตัดเย็บของอารามได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยที่อารามยังอยู่ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ อารามพระหฤทัยฯ เป็นอารามนักบวชหญิงพื้นเมืองที่ขึ้นตรงต่ออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

          เมื่อปี ค.ศ. 1898 / พ.ศ. 2441 พระสังฆราชหลุยส์ เวย ประมุขมิสซังสยามในสมัยนั้น (ปกครองมิสซังสยามระหว่างปีค.ศ. 1875 / พ.ศ. 2418 - ค.ศ. 1909 / พ.ศ. 2452) ได้เปิดโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และได้เชิญคณะเซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ ทางคณะได้ส่งสมาชิกรุ่นแรกจำนวน 7 คนตามคำเชิญของพระสังฆราชประมุขมิสซัง และหนึ่งในจำนวนสมาชิกรุ่นแรกที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็คือ เซอร์เซราฟิน เดอ มารี

          สองปีต่อมา คือปี ค.ศ.  1900 / พ.ศ. 2443 คุณพ่อปีโอ (หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการคือคุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ดอนต์ รองประมุขมิสซัง เทียบเท่าอุปสังฆ-ราชในปัจจุบัน) โดยความเห็ นชอบของพระ-สังฆราชเวย์ ได้ทำการขอ เซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เพื่อมาเป็นผู้ให้การอบรมกับบรรดาภคินีที่อารามสามเสน หรือที่รู้จักกันในสมัยนั้น ก็คือคณะชีรักไม้กางเขน ทางคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ได้ส่งสมาชิกจำนวน 2 คน คือ เซอร์ฮังเรี๊ยตและเซอร์ยุสตินจากไซ่ง่อนมาที่อารามแห่งนี้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1900 / พ.ศ. 2443

          จากเหตุผลบางประการทำให้มีการสับเปลี่ยนหน้าที่ของเซอ ร์ที่สามเสน เซอร์เซราฟิน เดอ มารี ที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ได้ถูกย้ายมาประจำที่อารามสามเสนในปี ค.ศ. 1902 / พ.ศ. 2445  แทนเซอร์ยุสติน และต่อมาในปี ค.ศ. 1903 / พ.ศ. 2446 เซอร์เซราฟิน เดอ มารี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการที่อารามสามเสนแทนเซอร์ฮังเรี๊ยตที่เดินทางกลับไปไซ่ง่อน

          เซอร์เซราฟิน เดอ มารี (ชื่อตามทะเบียนเกิดคือ เออเชนนี ลูเตนบาเช่อร์, Eugnie Luttenbacher) เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1873 / พ.ศ. 2416 ที่เมืองเฟลเลอแรง (Fellering) ในแคว้นอัลซาส (Alsace)

          อัลซาสเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี อัลซาสเป็นดินแดนที่มีความเฉพาะตัว ชาวอัลซาสมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง และมีของพื้นบ้านหลายอย่างที่มีชื่อเสียง เช่น เหล้าองุ่น ไส้กรอกกับกะหล่ำปลีดองฯลฯ ชาวอัลซาสเป็นคนขยันขันแข็งและใจกว้าง โดยเฉพาะผู้หญิงอัลซาส พวกเธอจะทำงานบ้านอย่างไม่หยุดหย่อน ภูมิประเทศของอัลซาสนั้นสวยงามมีภูเขาสูง บ้านเรือนของผู้คนมีสีสันที่ผิดไปจากที่อื่นในประเทศฝรั่งเศส ช่วงที่เซอร์เซราฟินเกิด อัลซาสได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี ดังนั้น ภาษาราชการของชาวอัลซาสในขณะนั้นก็คือ ภาษาเยอรมัน ดังที่เราพบในใบสูติบัตรของเซอร์เซราฟินที่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาในปีค.ศ. 1918 / พ.ศ.  2461 อัลซาสได้กลับมาเป็นของฝรั่งเศส และในปี ค.ศ. 1940 / พ.ศ.  2483 ฮิตเลอร์ (Hitler) ก็ได้ผนวกอัลซาสเข้ากับเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 / พ.ศ. 2488 อัลซาสก็ได้กลับมาเป็นของประเทศฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน 

          เออเชนนีได้รู้สึกถึงกระแสเรียกให้ไปเป็นธรรมทูตตั้งแต่อายุยังน้อย และเธอได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดหลังจากที่ได้ไปแสวงบุญที่ธีเฮนบัช (Thierenbach) ขณะเมื่อมีอายุได้ 21 ปี ดังนั้นเออเชนนีจึงได้สมัครเข้าอารามคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และในปีต่อมาเธอก็ได้รับชุดนักบวชเป็นโนวิส เธอได้เลือกชื่อนักบวชว่า เซอร์เซราฟิน เดอ มารี โดยการนำเอาชื่อบิดาและมารดา มาเชื่อมต่อกัน และในเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 1897 / พ.ศ. 2440 เซอร์เซราฟิน เดอ มารี ก็ได้ทำการปฏิญาณตัวครั้งแรกและในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เธอก็ได้ถูกส่งไปเป็นมิสชันนารีในโคชินจีน เมื่อมาถึงไซ่ง่อน เธอได้เริ่มเรียนภาษาเวียดนาม แต่เธอได้อยู่ที่นั่นไม่นานนัก  เพราะในปี ค.ศ. 1898 / พ.ศ. 2441 เธอก็ได้ถูกส่งเข้ามาในประเทศสยามพร้อมกับเพื่อนเซอร์อีก 6 คน ตามคำขอของพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ที่ประสงค์จะได้เซอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ให้มารับผิดชอบงานที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

          ปี ค.ศ. 1902 / พ.ศ. 2445 เซอร์เซราฟินได้ถูกย้ายมาประจำที่อารามสามเสน และในปีต่อมาเธอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการิณีของอาราม เธอได้ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับอารามนักบวชหญิงพื้นเมืองแห่งนี้ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง

          เธอได้รับหน้าที่อธิการิณีที่อารามสามเสน เมื่อมีอายุได้เพียง 28 ปีเท่านั้น เป็นหน้าที่ที่มีความกังวล  เพราะเมื่อมาถึงอารามที่สามเสนเซอร์เซราฟินได้พบภคินีพื้นเมือง 7 คน ที่เธอได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ แต่สมบัติของอารามที่มีอยู่ก็มีเพียงแค่ 7 ตีโกเท่านั้น  หมายความว่าประมาณ 7 ฟรังส์ฝรั่งเศสในสมัยนั้น กับเงินจำนวนนี้ต้องใช้ดำรงชีวิตสำหรับภคินีและบรรดาเด็กกำพร้าที่อยู่ในอาราม จะทำอย่างไรดี? อธิการสาวผู้นี้ไม่ได้ท้อแท้ เธอได้ยอมรับคำเสนอของภคินีคนหนึ่งในการทำขนมจากแป้งข้าวจ้าวผสมกับน้ำตาล ทุกๆ เช้าเด็กกำพร้าจะนำขนมเหล่านี้ไปขาย เธอได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องการขายขนมนี้ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เธอได้เขียนรายงานไปที่ชาร์ตรว่า ดังนี้ “ดิฉันรู้สึกว่าเหมือนอยู่คนเดียว ที่นั่นไม่มีสมบัติอะไรเลย ดิฉันบากบั่นที่จะทำขนมพื้นเมือง เพื่อนำไปขายที่ตลาด (ไม่มีหนทางใดที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ) เราไม่สามารถขายให้หมดได้ในวันเดียว ต้องเก็บเอาไว้วันรุ่งขึ้นเพื่อแจกให้เด็กๆ ดังนั้น เราจึงไม่มีกำไรจากการทำขนมขาย” เธอได้เล่าเพิ่มเติมในจดหมายฉบับเดียวกันว่า พระสนมของพระเจ้าอยู่หัวชอบขนมของอารามมาก หลังจากที่การทำขนมขายไม่ประสบความสำเร็จ ทางอารามได้รับจ้างโม่แป้งจากชาวสามเสนเพราะพวกเขานำไปผลิตเหล้า แต่ต่อมาทางการได้สั่งห้ามทำเหล้าเถื่อนดังนั้นอารามจึงขาดรายได้ แต่ในขณะเดียวกันจำนวนสมาชิกก็ได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากบรรดาพระสงฆ์ได้ส่งเด็กสาวเข้ามาใหม่ จำเป็นที่จะต้องทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เซอร์มารี เต็ก เซอร์คนหนึ่งที่ได้อยู่ในอารามแห่งนี้เช่นเดียวกัน เป็นคนเชี่ยวชาญเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า และโดยการนำของเซอร์มารี อารามได้เริ่มทำการตัดเย็บเสื้อผ้าและนี่เองที่เงินได้เริ่มเข้าสู่หีบใส่เงินน้อยๆ ของอาราม แต่อนิจจางานเย็บทั้งหมดต้องทำด้วยมือเพราะไม่มีจักรเย็บผ้า

          วันหนึ่งเซอร์เซราฟิน เดอ มารี ได้ออกเดินทางโดยทางเรือเพื่อไปรับปลาที่คริสตชนชาวสยามได้ถวายให้แก่อาราม การเดินทางไม่สามารถซ่อนจากสายตา ของผู้คน ชาวสยามที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเมื่อเห็นเซอร์เซราฟิน (จากการแต่งตัวชุดนักบวชสมัยนั้น) ทำให้พวกเขาคิดว่าเธอเป็น “ตุ๊กตาตัวใหญ่” และสิ่งที่ทำให้พวกเขายิ่งประหลาดใจมากขึ้นก็คือตุ๊กตาตัวใหญ่ตัวนี้สามารถพูดภาษาสยามของพวกเขาได้อีกด้วย ที่บ้านของคริสตชน เธอได้พบจักรเย็บผ้าตัวหนึ่งที่พวกเขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ดังนั้นพวกเขาจึงได้มอบจักรเย็บผ้านี้ให้แก่เซอร์เซราฟิน หลังจากการเดินทางตลอดหนึ่งเดือนที่ต้องล่องอยู่ในแม่น้ำโดยทางเรือได้สิ้นสุดลง ขากลับเธอได้นำจักรเย็บผ้าตัวนี้กลับไปที่อารามด้วย ทำให้งานด้านการตัดเย็บสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

          แต่สุภาษิตที่ว่าหนทางนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เสมอไปก็เป็นจริง เพราะหลังจากที่โปสตุลันต์คนหนึ่งได้นำเสื้อผ้าที่ทางอารามผลิตไปขาย โดยพาหนะที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้นก็คือ ทางเรือ เซอร์เซราฟินได้เล่าไว้ในจดหมายฉบับเดียวกันว่า “เราได้เย็บเสื้อผ้า และได้ใช้ให้โปสตุลันต์ชาวญวนคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีอายุแล้วลงเรือไปขายตามลำแม่น้ำ กิจการนี้ได้ดำเนินไปด้วยดีเป็นเวลา 2 ปี วันหนึ่งโชคไม่ดี เรือได้เกิดคว่ำและทุกอย่างในเรือได้เปียกและจมหายไปหมด” หลังจากเหตุการณ์นี้แล้วโปสตุลันต์คนนี้ปฏิเสธที่จะนำเสื้อผ้าไปขายทางเรืออีก ไม่ใช่เพราะเธอกลัวจมน้ำตายแต่เพราะเธออายที่ทำเรือล่ม

          เซอร์เซราฟินจึงเปลี่ยนวิธีการการค้าขายเสื้อผ้าด้วยวิธีใหม่ คือให้เด็กเอาไปขาย และได้เปลี่ยนจากทางน้ำเป็นทางบก เช้าวันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งได้ออกเดินทางพร้อมกับกล่องที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าเพื่อที่จะนำไปขาย ในระหว่างทางเธอได้พบกับควายฝูงหนึ่งที่ไล่ตามเธอมา ด้วยความกลัวเด็กน้อยได้ออกวิ่งหนีควายและได้หลงทาง  การวิ่งหนีของเธอได้นำเธอมาจนถึงพระราชวังของสมเด็จพระราชินี (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสมเด็จพระราชินีองค์ใด เพราะเอกสารต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ระบุเอาไว้) พระนางได้ทรงทอดพระเนตรจากพระบัญชร และพระนางทรงประสงค์จะรับทราบว่าใครคือเด็กน้อยคนนี้ และเธอจะไปไหน และเธอได้ถืออะไรมาด้วย ดังนั้นสมเด็จพระราชินีทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารผู้หนึ่งไปตามเด็กคนนี้มาเข้าเฝ้า พระนางได้รับสั่งให้เอาเสื้อผ้าที่ในกล่องออกมาให้พระนางทอดพระเนตร และพระนางก็ได้ทรงซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้

          วันรุ่งขึ้น สมเด็จพระราชินีได้ทรงประทานเงินให้อารามจำนวน 1,000 ตีโก และแก่ทุกคนที่อารามคนละ 30 ตีโก

          และในปีต่อมา สมเด็จพระราชินีได้ทรงพระราชทานเงินอีกจำนวน 30,000 ตีโกให้แก่อาราม แต่อนิจจา หลังจากนั้นไม่นาน พระนางทรงสิ้นพระชนม์  เซอร์เซราฟินได้เล่าว่า “บรรดาภคินีได้นำพวงหรีดพวงหนึ่งไปถวายที่หน้าพระศพ มีเรื่องแปลกเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ก็คือ บรรดาภคินีเพิ่งได้เริ่มใช้ผ้าคลุมศีรษะ คนสยามที่เห็นได้สรุปตามความคิดเห็นของพวกเขาว่า ภคินีเหล่านี้ได้ไว้ทุกข์ให้สมเด็จพระราชินี”

          อีกเรื่องหนึ่งที่สนับสนุนงานด้านการตัดเย็บก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปแล้ว พระองค์ทรงมีรับสั่งกับบรรดาข้าราชบริพารของพระองค์ให้สวมเครื่องแบบ เพราะจนถึงขณะนั้น ชาวสยามนุ่งห่มอย่างง่ายๆ

          ซิสเตอร์อังเยลีกา ศรีประเสริฐ ได้เล่าว่า “มาดามมารี เต็ก จะเลือกคนที่เป็นหัวหน้าเย็บเอง

          เย็บตัดเสื้อผ้าสตรี เด็ก ซ.ยออันนา จรูญ เป็นหัวหน้า 1 กลุ่ม

          เย็บตัดเสื้อผ้าพระสงฆ์ ซ.โซรองซ์ โรจนสุธี เป็นหัวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง

          เสื้อผ้าที่ปัก เป็นต้น สม๊อค ซ.บริชิต ประกอบกิจ เป็นหัวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง

          ถักเสื้อ ถักผ้าพันคอ ซ.มอนิกา เก่งมากถักเสื้อหนาวโดยใช้ไม้โครเช

          ซ.เอางุสติน น้ำทรัพย์ ถักผ้าลูกไม้เก่ง
               - กลุ่มที่เย็บของใช้ ปะชุนอยู่ต่างหาก”

          แต่แล้วในปี ค.ศ. 1930 / 2473 ฯพณฯ เดเยร์ ผู้แทนสันตะสำนักได้มาตรวจการในมิสซังสยาม และหลังจากการตรวจเยี่ยม ฯพณฯ ได้สั่งให้ย้ายอารามออกจากวัดสามเสน การหาที่ดินใหม่เพื่อสร้างอารามไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ด้วยความวางใจในพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า คุณแม่เซราฟิน เดอ มารี อธิการิณีของอารามได้สั่งให้ทุกเช้าเวลา 08.00 น. ตีระฆังเรียกให้ทุกคนที่อยู่ในอารามเข้าวัดทั้งภคินี ผู้ฝึกหัด รวมทั้งเด็กกำพร้า ให้มาสวดภาวนาร่วมกัน เริ่มด้วยบทเร้าวิงวอนนักบุญยอแซฟ และในตอนท้ายได้เพิ่มว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอโปรดให้พวกลูกมีบ้านอยู่ด้วยเถิด”

          หลังจากที่ได้ผ่านอุปสรรคนานาประการ ที่สุดอารามก็ได้ย้ายมาอยู่ที่คลองเตย โดยทางอารามได้ซื้อที่ดินของบริษัทอีสเอเชียติ๊ก อารามแห่งใหม่นี้ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของบรรดาสมาชิกรุ่นแรก ช่วงที่ย้ายออกมาจากสามเสนนั้นอารามยังสร้างไม่เสร็จ สมาชิกของคณะที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่ย้ายอารามได้เล่าว่า “บ้านของอารามนั้นเสร็จแค่ 2 ประตู จัดเตียงให้คุณแม่เซราฟินและเซอร์มารี เต็ก นอน ส่วนพวกเรานอนที่ระเบียงชั้นสองซึ่งเป็นพื้นซีเมนต์ขรุขระ ยังไม่ได้ปูกระเบื้อง พวกพี่ๆ ช่างเย็บก็เย็บกันใกล้ๆ เตียงคุณแม่ ส่วนพวกเราเด็กๆ ที่เข้าอารามไม่ถึง 3-4 ปี ก็ช่วยกันทำงานอยู่กลางนา ขุดบ่อหาน้ำอาบ ไปหาผักเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง กะทกรก กระถิน บางครั้งฝนตกก็ไปจับปูนา กุ้ง ฯลฯ ตามท้องนาร่องน้ำ หรือช่วยกันขุดหลุมปลูกข้าวโพด เวลาแดดจัดจะร้อนมากและกระหายน้ำ หาน้ำดื่มก็ไม่ได้ มีแต่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยที่นำมาใช้สำหรับอาบ บางคนถึงกับร้องไห้เพราะหิวน้ำ บางคนจะเข้าไปหลบแดดในตู้ใหญ่ๆ ที่ขนมาและก็ผล็อยหลับไป สัตบุรุษที่สามเสนทราบว่าไม่มีน้ำดื่มก็สงสาร ขนน้ำใส่รถมาให้เป็นครั้งคราว ซิสเตอร์เบอาตริกซ์ ขุดบ่อจะมีน้ำใช้ เหนื่อยก็นั่งพักปั้นตุ๊กตาเล่นอยู่ในบ่อนั่นเอง”

          ในปี ค.ศ. 1937 / 2480 คุณแม่เซราฟินได้ริเริ่มที่จะตั้งโรงเรียนขึ้น โดยใช้บริเวณชั้นสองของอารามเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ฝึกหัดและนักเรียนนอก และในปีนี้เองเป็นปีที่ทางโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ได้จัดทำการฉลองครบ 75 ปี ของการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ การฉลองนี้จะมีขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคมที่จะถึง และทางโรงเรียนได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นองค์ประธานในงานฉลองนี้

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อารามได้ถูกขอให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาใช้เป็นที่พำนักชั่วคราวนานถึงหนึ่งเดือน มีทหารญี่ปุ่นจำนวนกว่าหนึ่งพันนายได้เข้ามาอาศัยอยู่ในอาราม  พวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้นประพฤติตนถูกต้อง  ส่วน นายทหารผู้น้อยนั้นเป็นเหมือนขโมยและนักล้วงนักค้น พวกเขาได้งัดตู้เอาผ้าที่บรรดาซิสเตอร์ได้เก็บเอาไว้ไปขายที่ตลาด  และเอาหนังที่ใช้ทำกระเป๋าขายมาเย็บเป็นรองเท้าใส่

          หลังจากที่ทหารญี่ปุ่นได้ออกไปแล้ว ทางสถานทูตฝรั่งเศส ก็ได้มาขอใช้อารามเป็นสำนักงานชั่วคราว คุณแม่เซราฟินก็ได้อนุญาตให้ทางสถานทูตเข้ามาใช้ชั่วคราวได้ เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพันธมิตรและทางสถานทูตกลัวถูกทิ้งลูกระเบิด โดยเฉพาะเอกสารสำคัญๆ อาจถูกทำลาย

          และเมื่อครั้งเกิดสงครามอินโดจีน  รัฐบาลได้มาขอเวรคืนที่ ดินและขอตึกอาราม คุณแม่เซราฟินได้บอกกับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่มาพบว่า “จะย้ายอารามไปที่ไหนก็ได้ แต่ต้องสร้างตึกให้เหมือนแป ลนของฉันทุกอย่าง และให้คนงานก่อสร้าง 2 คนของฉันเป็นคนควบคุม คือ นายบัว ประคองจิตร และนายฟรังซิส อีกทั้งต้องขุดต้นมะม่วง และต้นไม้อื่นๆ ไปปลูกให้เหมือนกับที่อารามนี้ทุกอย่าง” แล้วคุณแม่เซราฟินก็ให้เขาดูแปลน เจ้าหน้าที่คิดงบประมาณว่าต้องใช้เงินหลายล้านบาทจึงไม่กล้าเวรคืนที่ดิน

          คุณแม่เซราฟินได้อยู่กับอารามภคินีพื้นเมืองแห่งกรุงเทพฯ นานกว่า 50 ปี ท่านทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้แก่งานที่ท่านได้รับมอบหมายจนถึงวินาทีสุดท้าย ตลอดระยะเวลายาวนาน ท่านมีโอกาสกลับไปประเทศฝรั่งเศสเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ก็คือ ในปี ค.ศ. 1925 / พ.ศ. 2468 และ ค.ศ. 1949 / พ.ศ. 2492 ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมด พ่อแม่และพี่น้องบางคนก็ได้จากไปแล้ว

          คุณแม่เซราฟิน เดอ มารี ได้เข้ามาเป็นมิสชันนารีในประเทศ สยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และคุณแม่ก็ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1952 / พ.ศ. 2495 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน คุณแม่เป็นมิสชัน-นารีนานถึง 5 แผ่นดิน

          ฯพณฯ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง (ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ระหว่างปี ค.ศ. 1947 / พ.ศ. 2490 – ค.ศ. 1965 / พ.ศ. 2508 ) ได้กล่าวถึงเธอไว้ว่า “... เธอปรารถนาแสวงหาพระเป็นเจ้าและวิญญาณทั้งหลายด้วยพลังความรักทั้งหมดท ี่เธอมี เธอเป็นคนมุ่งมั่นขั้นวีรกรรม ได้ฟันฝ่าอุปสรรคตามประสามนุษย์ทุกชนิด....เธอได้อุทิศตนเพื่องานที่ยิ่งใหญ่และมีเมตตาธรรมมากกว่า นั่นก็คือ เปิดขอบฟ้าแห่งชีวิตนักพรตแก่บรรดาหญิงชาวสยาม ชาวเวียดนาม ชาวจีน ที่มาเคาะประตูอารามที่สามเสน และที่คลองเตยในเวลาต่อมา...เซอร์เซราฟินมีปฏิภาณไหวพริบในการลงมือปฏิบัติ และมีความเชื่อที่กล้าหาญตามแบบชาวแคว้นอัลซาส เธอเป็นนักพรต เป็นอธิการที่ดึ งดูดบรรดาเด็กสาวผู้ปรารถนาจะถวายตนแด่พระเป็นเจ้า เธอได้อออกเดินทางไปตามวัดต่างๆ สม่ำเสมอ ทำให้มีเด็กสาวเข้าคณะเป็นร้อย... เซอร์เซราฟินได้ใช้ชีวิตนักพรตของเธอทั้งหมดในงานธรรม ทูตอย่างแท้จริง...คงเป็นการยากที่มิสซังคาทอลิกจะทดแทนหนี้ที่มีต่อเซอร์เซราฟินได้.....”

          พระคุณเจ้าโชแรงได้กล่าวเพิ่มเติมไว้อีกว่า “เรายังจำภาพของเธอได้ดี เธอเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ไม่สูงมากนัก เธอมีสีหน้าที่สงบ ดวงตาเป็นประกายด้วยความมั่นใจ แม้บางครั้งจะมีริ้วรอยแห่งควา มเศร้าอยู่บ้าง”

            และนี่คือบทบาทของสตรีร่า งเล็กๆ ชาวอัลซาส สมาชิกคนหนึ่งของคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ธรรมทูตหญิงที่มีความกล้าแกร่ง เต็มไปด้วยความอดทนและบากบั่น มากไปด้วยไหวพริบปฏิภาณ เธอมีความสามารถพูดได้ถึง 5  ภาษา  ก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เวียดนาม และไทย โดยไม่นับภาษาอัลซาส ภาษาพื้นเมืองของเธอ เธอได้จากโลกนี้ไปแล้วเพื่อไปรับรางวัลจากพระเป็นเจ้าจนถึงวันนี้เป็นนาน 60 ปี เธอได้ทิ้งเพียงร่างไว้ในสุสานของอารามพระหฤทัยขอ งพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเหมือนดังคำที่เธอได้เขียนบอกกับพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส (ประมุขมิสซังสยามระหว่างปี ค.ศ. 1909 / พ.ศ. 2452 - ค.ศ. 1947 พ.ศ. 2490) ว่า

           “นับเป็นเวลาเกือบ 50 ปีที่ดิฉันได้รับผิดชอบในการให้การอบรมแก่บรรดาภคินีพื้นเมืองที่อารามพระหฤทัยฯ ดิฉันมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีชีวิตและตายท่ามกลางพวกเธอที่เป็นเสมือนลูกวิญญาณของดิฉัน ความปรารถนาของดิฉันมีมากกว่านั้นอีก ก็คือ ดิฉันปรารถนาที่จะได้พักผ่อนตลอดนิรันดรในท่ามกลางพวกเธอที่ได้จากไปแล้วและกำลังพักผ่อนอยู่ในหลุมฝังศพ.....”

เอกสารอ้างอิง
     - จดหมายบางฉบับของคุณแม่เซราฟิน เดอ มารี
     - จากคำบอกเล่าของบรรดาซิสเตอร์ที่เคยได้รับการอบรมและมีชีวิตอยู่ในสมัยคุณแม่เซราฟิน เดอ มารี
     - Les Annales de St. Paul 1952
 

ขอบคุณข้อมูลจาก อุดมสาร